เอาผิดคดีฟอกเงินโดยตรง!เฉลยเหตุ ตร. ขอศาลอนุมัติหมายจับพระผู้ใหญ่ไม่ผ่าน ป.ป.ช.
“…ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2540-2550 มีผู้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ว่า มีพระชั้นผู้ใหญ่ในวัดพระธรรมกายยักยอกทรัพย์ อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขณะนั้นได้ตีความว่า พระชั้นผู้ใหญ่ดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ดังนั้นพนักงานสอบสวนอาจใช้คำตีความของ ป.ป.ช. ดังกล่าวเป็นหลัก และดำเนินการร้องขอต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเพื่อดำเนินการได้เอง…” ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา วงการผ้าเหลืองกำลังลุกเป็นไฟ !
ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการ ‘เต็มสูบ’ ขอหมายจับจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง สนธิกำลังหลายฝ่ายบุกจับกุมพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับคดีฟอกเงิน และการทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณวัด หรือ ‘เงินทอนวัด’ ปัจจุบันพระชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 5 รูป ถูกฝากขัง และพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว
แต่ประเด็นทางข้อกฎหมายที่ถูกสังคมตั้งคำถามคือ ตำรวจมีอำนาจหน้าที่ในการบุกจับกุมตัวพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูปนี้ได้หรือไม่ ?
เพราะตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ระบุชัดเจนว่า พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา นั่นหมายความว่า พระระดับผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือเจ้าอาวาส ย่อมเป็น ‘เจ้าพนักงานของรัฐ’
ในเมื่อเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมายฉบับนี้แล้ว เมื่อพนักงานสอบสวนจะขอศาลออกหมายจับในคดีเกี่ยวกับการทุจริต จะต้องกระทำผ่านสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ขณะเดียวกันในวันที่ขอศาลอนุมัติหมายจับดังกล่าว พนักงานสอบสวน ไม่ได้ระบุข้อหาต่อสาธารณะอย่างชัดเจนว่า เอาผิดในข้อหาอะไร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตราไหน ?
เพราะหากพระผู้ใหญ่ทั้ง 5 รูปเป็นตัวการใหญ่ที่เกี่ยวพันกับเรื่องทุจริต ป.ป.ช. เป็นผู้ร้องขอหมายจับต่อศาลเอง หรือหากพระผู้ใหญ่ทั้ง 5 รูปเป็นผู้สนับสนุน คดีทุจริตเงินทอนวัดก็ยังอยู่ในชั้นการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. ถึง 13 สำนวน และยังไม่มีบทสรุปออกมาว่า เจ้าหน้าที่รัฐรายใดเป็น ‘ตัวการใหญ่’ ดังนั้นพระผู้ใหญ่ทั้ง 5 รูป เป็นผู้สนับสนุน ‘ใคร’ (อ่านประกอบ : กาง กม.ไฉน ตร.ขอศาลอนุมัติหมายจับพระผู้ใหญ่คดีเงินทอนวัดไม่ผ่าน ป.ป.ช.?)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. ที่คร่ำหวอดเรื่องกฎหมาย อธิบายกรณีนี้ว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตโดยตรง แต่แจ้งข้อกล่าวหาว่าพระผู้ใหญ่ทั้ง 5 รูป มีความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับคดีเงินทอนวัดที่ ป.ป.ช. กำลังไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่ แต่จะอยู่ในสำนวนใดใน 13 สำนวน ไม่ทราบรายละเอียด
เจ้าหน้าที่รายนี้ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2540-2550 มีผู้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ว่า มีพระชั้นผู้ใหญ่ในวัดพระธรรมกายยักยอกทรัพย์ อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขณะนั้นได้ตีความว่า พระชั้นผู้ใหญ่ดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ดังนั้นพนักงานสอบสวนอาจใช้คำตีความของ ป.ป.ช. ดังกล่าวเป็นหลัก และดำเนินการร้องขอต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเพื่อดำเนินการได้เอง
นอกจากนี้พนักงานสอบสวนยังยึดตามหลัก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 ที่เกี่ยวกับนิยามคำว่า ‘คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ’ อนุ 2 ระบุว่า คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดตาม อนุ 1 (คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าทีราชการหรือทุจริต) หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือกฎหมายอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
นั่นหมายความว่า การขอศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางออกหมายจับพระผู้ใหญ่ 5 รูปดังกล่าว ในคดีฟอกเงินโดยตรงนั้น กระทำโดยชอบแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องผ่าน ป.ป.ช. แต่อย่างใด
นี่จึงเป็นที่มาของปฏิบัติการ ‘ลับ ลวง พราง’ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บุกจับกุมพระผู้ใหญ่ทั้ง 5 รูป ที่ถูกกล่าวหาว่าฟอกเงิน เนื่องจากอาจมีส่วนพัวพันกับ ร.ท.ฐิติทัศน์ นิพนธ์พิทยา นายทหารประจำศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย เจ้าของ หจก.ดีดีทวีคูณ ที่ถูกตรวจสอบพบการโอนเงินจำนวน 25 ล้านบาท จากพระชั้นผู้ใหญ่วัดสระเกศ เข้าบัญชีแม่บ้าน ที่โอนหุ้นให้ถือครองแทน กระทั่งต้องสึกเพื่อนำตัวฝากขัง และถูกคัดค้านการประกันตัวอยู่ในขณะนี้
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร คงต้องรอดูการต่อสู้คดีกันต่อไป
isranews
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น